วีซ่าผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน

ในหน้านี้:


ข้อมูลทั่วไป

วีซ่าสื่อมวลชน (I) เป็นวีซ่าชั่วคราวสำหรับตัวแทนของสื่อมวลชนต่างประเทศที่ต้องการเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงาน โดยมีสำนักงานหลักตั้งอยู่ในต่างประเทศ ขั้นตอนบางประการและค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองนั้นจะเป็นไปตามนโยบายของประเทศของผู้เดินทางนั้นๆและรัฐบาลสหรัฐฯจะยึดถือหลักการเดียวกันเป็นการตอบแทนซึ่งเรียกว่า "หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ" ขั้นตอนในให้วีซ่านี้แก่ตัวแทนสื่อมวลชนจากประเทศใดๆจะพิจารณาจากหลักว่ารัฐบาลของผู้สมัครนั้นให้สิทธิเดียวกัน แก่ตัวแทนสื่อมวลชน/ผู้สื่อข่าวจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่

คุณสมบัติ

ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองสหรัฐฯระบุไว้ในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชน

วีซ่าสื่อมวลชนเป็นวีซ่าสำหรับ "ตัวแทนสื่อมวลชนต่างประเทศ" อันได้แก่ ตัวแทนจากแวดวงสื่อ วิทยุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งพิมพ์ซึ่งมาปฏิบัติงานที่มีความสำคัญต่อบทบาทสื่อมวลชนต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ผู้สื่อข่าว กองถ่าย บรรณาธิการ ตลอดจนบุคคลในอาชีพคล้ายกันที่ได้ถูกกำหนดไว้ตามกฏหมายว่าด้วยการเข้าเมืองสหรัฐฯ ที่ต้องการเดินทางไปปฏิบัติงานในสหรัฐอเมริกา โดยงานที่จะไปปฏิบัติให้แก่องค์กรสื่อมวลชนที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างประเทศนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม กล่าวคือการทำงานนั้นจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลความรู้หรือเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลข่าวสาร หรือ การรายงานสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้ เจ้าหน้าที่กงสุลจะเป็นผู้ตัดสินว่ากิจกรรมใดๆนั้นตรงตามคุณสมบัติในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชนหรือไม่ เช่น การรายงานข่าวกีฬาทั่วไปจะอยู่ในขอบข่ายที่เหมาะสมสำหรับการยื่นขอวีซ่าสื่อมวลชนประเภทนี้ และยังมีกิจกรรมทางด้านสื่อมวลชนอื่นๆตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • พนักงานประจำของสำนักงานข่าวต่างประเทศที่มาถ่ายทำข่าวหรือสารคดี
  • ผู้ที่ทำงานให้สื่อที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือเผยแพร่ภาพยนตร์จะสามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชนได้ก็ต่อเมื่อเนื้อหาที่ถ่ายทำนั้นจะถูกนำไปใช้ในการรายงานข้อมูลหรือข่าวเท่านั้น และเงินทุนในการถ่ายทำดังกล่าวจะต้องมาจากภายนอกสหรัฐอเมริกา
  • นักข่าวที่ทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราว จะต้องเป็นบุคคลที่ถือบัตรประจำตัวที่ออกให้โดยหน่วยงานผู้สื่อข่าวมืออาชีพ ซึ่งผลิตงานให้สื่อต่างประเทศอื่นๆ นำไปใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความบันเทิงหรือการโฆษณาเพื่อการค้า โปรดทราบว่าท่านจะต้องมีสัญญาว่าจ้างที่มีผลบังคับใช้อยู่
  • พนักงานของบริษัทผู้ผลิตรายการอิสระ ที่ถือบัตรประจำตัวซึ่งออกให้โดยสมาคมนักข่าวมืออาชีพ
  • นักข่าวต่างประเทศที่ทำงานให้กับบริษัทในเครือ ขององค์กรหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรสื่อมวลชนของสหรัฐอเมริกาหรือทำงานให้กับบริษัทสื่อมวลชนของอเมริกาที่มีสาขาตั้งอยู่ในต่างประเทศ ที่ต้องเดินทางไปรายงานข่าวในสหรัฐอเมริกาเพื่อนำเสนอต่อผู้ชมในต่างประเทศ
  • ผู้แทนจากสำนักงานท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรอง ควบคุม หรือเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลต่างประเทศที่มีหน้าที่หลักในการสื่อสารข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ แต่ไม่คุณสมบัติเข้าค่ายผู้สมัครวีซ่าประเภท A-2
  • สำหรับงานข้อมูลด้านเทคนิคเกี่ยวกับอุตสาหกรรม พนักงานที่เดินทางไปสำนักงานในสหรัฐอเมริกาเพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม

นักข่าวอิสระจะได้รับการพิจารณาวีซ่าประเภท I ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ทั้งหมดต่อไปนี้

  • มีบัตรประจำตัวที่ออกให้โดยสมาคมนักข่าวมืออาชีพ
  • อยู่ภายใต้สัญญาจ้างงานในองค์กรสื่อมวลชน
  • เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความบันเทิงหรือการโฆษณาเพื่อการค้า

ช่างภาพถ่ายภาพนิ่งสามารถเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่าประเภท B-1เพื่อวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพได้ โดยจะต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆจากแหล่งเงินทุนในสหรัฐอเมริกา

ข้อจำกัด

ผู้ถือสัญชาติของประเทศในโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่าที่ต้องการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นการชั่วคราวในฐานะตัวแทนสื่อมวลชนต่างชาติจะต้องมีวีซ่าสื่อมวลชนก่อนถึงจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อปฏิบัติงานในฐานะสื่อมวลชนหรือนักข่าวได้ โดยจะไม่สามารถเดินทางโดยไม่มีวีซ่าภายใต้โปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่า หรือเดินทางด้วยวีซ่าเยี่ยมเยียน (ประเภท B) ได้ อย่างไรก็ดีการการกระทำดังกล่าวสามารถทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯปฏิเสธการเดินทางเข้าของท่านที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ รายละเอียดด้านล่างจะระบุว่าท่านสามารถใช้วีซ่าเยี่ยมเยียนหรือเดินทางตามโปรแกรมยกเว้นการขอวีซ่าได้ในกรณีใดบ้าง

การเดินทางด้วยวีซ่าเยี่ยมเยียน

ท่านสามารถใช้วีซ่าเยี่ยมเยียนได้หากท่านเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

เข้าร่วมการประชุม

ตัวแทนสื่อมวลชนที่เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้เข้าร่วมการประชุมที่จะไม่รายงานใดๆเกี่ยวกับการประชุมทั้งในขณะที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือหลังจากเดินทางกลับประเทศ จะสามารถเดินทางด้วยวีซ่าเยี่ยมเยียนนี้ได้ โดยหลักในการพิจารณาตามที่กฎหมายการเข้าเมืองกำหนดไว้จะขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนสื่อมวลชนดังกล่าวนั้น "ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของตนอยู่" หรือไม่

วิทยากร ผู้บรรยาย หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมเชิงวิชาการ

สื่อมวลชนต้องมีวีซ่าเยี่ยมเยียนหากต้องการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในฐานะวิทยากร ผู้บรรยาย หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมเชิงวิชาการทั่วไปอื่นๆ ที่จัดโดยหน่วยงานไม่หวังผลกำไร องค์กรวิจัยที่ไม่หวังผลกำไร องค์กรวิจัยของรัฐ หรือที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาที่ผู้สมัครอาจได้รับค่าตอบแทนในการบรรยาย อย่างไรก็ตามการบรรยายนั้นต้องใช้เวลาไม่เกินเก้าวันต่อหนึ่งสถาบันและผู้บรรยายจะสามารถรับค่าตอบแทนจากสถาบันหรือองค์กรได้ไม่เกินห้าแห่งภายในระยะเวลาหกเดือน

การซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสำหรับงานด้านสื่อมวลชน

พนักงานขององค์กรสื่อมวลชนต่างประเทศสามารถเดินทางมาซื้อ/สั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสำหรับงานด้านสื่อมวลชน หรือมาเพื่อซื้อ/สั่งซื้อลิขสิทธิ์การในออกอากาศด้วยวีซ่าเยี่ยมเยียนได้ เนื่องจากการดำเนินการเหล่านี้อยู่ภายในขอบเขตของผู้เยี่ยมเยียนเพื่อกิจกรรมทางธุรกิจ

การพักผ่อน

นักข่าวต่างประเทศสามารถเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพักผ่อนได้โดยใช้วีซ่าเยี่ยมเยียน และไม่จำเป็นต้องมีวีซ่าสื่อมวลชน ตราบใดที่นักข่าวคนดังกล่าวจะไม่ทำการรายงานเหตุการณ์เพื่อการนำเสนอข่าว

การเดินทางด้วยวีซ่าทำงานชั่วคราว

แม้ว่าจะมีกิจกรรมหลายประเภทที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของวีซ่าสื่อมวลชนเนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลและข่าว แต่ก็มีกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การยื่นคำร้องในแต่ละครั้งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี ในการตัดสินว่าผู้สมัครนั้นๆ มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับวีซ่าสื่อมวลชนหรือไม่ เจ้าหน้าที่กงสุลจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการเดินทางนั้นเป็นหลักว่ามีความเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลหรือการรวบรวมเนื้อหาข่าวหรือไม่ รายเอียดที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้จะยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ต้องใช้วีซ่าทำงานชั่วคราวเช่นวีซ่าประเภท H, O หรือ P แทนวีซ่าผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนประเภท I

วีซ่าทำงานชั่วคราวสามาถใช้กับผู้ที่จะเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

การถ่ายทำรายการบันเทิงหรือการโฆษณา

วีซ่าสื่อมวลชนจะไม่สามารถใช้กับผู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อถ่ายทำรายการบันเทิงหรือการโฆษณาได้ โดยในกรณีนี้ท่านจะต้องมีวีซ่าทำงานชั่วคราว

ผู้ช่วยในการผลิตเช่น ผู้พิสูจน์อักษร บรรณารักษ์ และนักออกแบบฉาก

บุคคลในตำแหน่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้พิสูจน์อักษร บรรณารักษ์ นักออกแบบฉาก และอื่นๆจะไม่สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชนได้และอาจมีคุณสมบัติตรงตามวีซ่าประเภทอื่นเช่น H, O หรือ P

รายการที่เป็นการจัดแสดง โทรทัศน์ และรายการตอบคำถาม

รายการที่มีการจัดแสดง ถึงแม้จะไม่มีบทสคริปต์ก็ตาม เช่น รายการโทรทัศน์แบบเรียลลีตี้โชว์และรายการตอบคำถาม ไม่ถือเป็นการให้ข้อมูลหรือข่าวโดยหลัก ตลอดจนรายการสารคดีที่มีการจัดแสดงความบันเทิงโดยนักแสดงก็จะไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลเช่นกัน จึงจะไม่นับว่าทีมงานที่ผลิตรายการเหล่านี้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชน บริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ วิทยุ และภาพยนตร์ในลักษณะดังกล่าวจะสามารถขอคำปรึกษาจากทนายที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเข้าเมืองสำหรับทีมงานสื่อมวลชนสำหรับแนวทางปฎิบัติสำหรับโปรเจคนั้นเป็นการเฉพาะ

ผลิตงานด้านสื่อมวลชนเชิงศิลปะ

สื่อมวลชนที่จะเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมผลิตงานด้านศิลปะการแสดง (ที่มีการใช้นักแสดง) จะไม่มีคุณสมบัติในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสื่อมวลชนประเภทนี้ อย่างไรก็ดีบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ วิทยุ และภาพยนตร์ต่างๆสามารถขอคำปรึกษาจากทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายเกี่ยวกับการเข้าเมืองของสื่อมวลชน เพื่อจะได้รับคำแนะนำที่สอดคล้องกับโครงการนั้นๆโดยเฉพาะ

ผู้ติดตาม

คู่สมรสหรือบุตรอายุต่ำกว่า 21 ปีที่อยู่ในสภานภาพโสดที่ต้องการเดินทางติดตามผู้ถือวีซ่าหลักไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องมีวีซ่าติดตามประเภท I แต่สำหรับกรณีที่คู่สมรสและ/หรือบุตรเหล่านั้นไม่ตั้งใจที่จะติดตามไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริการ่วมกับผู้ถือวีซ่าหลัก แต่ต้องการไปเยี่ยมเพียงเพื่อการพักผ่อนเท่านั้น สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าเยี่ยมเยียน (B-2) ได้

คู่สมรสและบุตรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐอเมริกาขณะที่ถือวีซ่าติดตามประเภท I หากคู่สมรสหรือผู้ติดตามเหล่านั้นมีความประสงค์จะทำงาน ก็จะต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าทำงานให้ถูกประเภท

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้อง

หากท่านยื่นคำร้องขอวีซ่าประเภท I ท่านจะต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้

  • ใบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราวในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DS-160) ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บเพจ DS-160
  • หนังสือเดินทางที่สามารถใช้สำหรับเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยที่หนังสือเดินทางนั้นจะต้องมีอายุใช้งานคงเหลือมากกว่าระยะเวลาที่ท่านตั้งใจจะอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยหกเดือน (นอกจากได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงรายประเทศ) สำหรับผู้ที่ใช้หนังสือเดินทางร่วมกับผู้เยาว์ โปรดทราบว่าแต่ละคนที่ต้องการวีซ่าจะต้องยื่นใบคำร้องขอวีซ่าแยกกัน
  • รูปถ่ายขนาด 2x2" (5 ซม.x5 ซม.) ที่ถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือนหนึ่ง (1) ใบ รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดของรูปถ่ายสามารถหาได้จากเว็บเพจนี้
  • ใบเสร็จชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราวในสกุลเงินท้องถิ่นที่เทียบเท่ากับ 185 ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าธรรมเนียมนี้ไม่สามารถขอคืนได้ เว็บเพจนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในบางกรณีหากวีซ่าของท่านผ่านการอนุมัติแล้ว ท่านยังอาจต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการออกวีซ่า โดยจะขึ้นอยู่กับสัญชาติของท่าน เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯมีข้อมูลที่ช่วยระบุว่าท่านจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการออกวีซ่าหรือไม่ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว
  • หลักฐานการทำงาน
    • ผู้สื่อข่าว หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ระบุชื่อของผู้สมัคร ตำแหน่งงาน วัตถุประสงค์ของการเดินทางและระยะเวลาที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา
    • นักข่าวอิสระที่ทำสัญญากับองค์กรสื่อมวลชน สำเนาสัญญาจ้างงานกับองค์กรสื่อมวลชน ที่ระบุชื่อของผู้สมัคร ตำแหน่งงาน ระยะเวลาของสัญญาจ้างงานนั้น วัตถุประสงค์การเดินทางและระยะเวลาที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา
    • กองถ่าย หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ระบุชื่อของผู้สมัคร ตำแหน่งงาน รายละเอียดคร่าวๆเกี่ยวกับรายการที่ถ่ายทำ วัตถุประสงค์การเดินทางและระยะเวลาที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา
    • บริษัทผู้ผลิตรายการอิสระต่างๆที่ทำสัญญาไว้กับองค์กรสื่อมวลชน: หนังสือรับรองที่ออกโดยองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นผู้ว่าจ้างนั้นโดยระบุชื่อของผู้สมัคร ตำแหน่งงาน และรายละเอียดคร่าวๆเกี่ยวกับรายการที่ถ่ายทำ ระยะเวลาของสัญญาจ้าง วัตถุประสงค์การเดินทางและระยะเวลาที่จะพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากเอกสารข้างต้น ผู้สมัครยังต้องแสดงใบนัดสัมภาษณ์เพื่อยืนยันว่าท่านได้จองเวลานัดสัมภาษณ์ผ่านบริการนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้สมัครสามารถนำเอกสารประกอบใดๆ ก็ตามที่เชื่อว่าจะสามารถแสดงข้อมูลประกอบให้เป็นที่พอใจแก่เจ้าหน้าที่กงสุลได้ติดตัวมาด้วย

วิธีการสมัคร

ขั้นตอนที่ 1

กรอกใบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราวในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DS-160)

ขั้นตอนที่ 2

ชำระค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขอวีซ่า

ขั้นตอนที่ 3

ทำการนัดสัมภาษณ์วีซ่าผ่านเว็บนี้ โดยท่านจะต้องใช้ข้อมูลต่อไปนี้เพื่อทำการนัดสัมภาษณ์

  • หมายเลขหนังสือเดินทางของท่าน
  • หมายเลขใบเสร็จชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าของท่าน (คลิก ที่นี่ หากท่านต้องการความช่วยเหลือในการค้นหาหมายเลขดังกล่าว)
  • หมายเลขบาร์โค้ดสิบ (10) หลักที่ระบุไว้บนหน้ายืนยันแบบฟอร์ม DS-160
ขั้นตอนที่ 4

ไปที่สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาตามวันและเวลาที่ท่านมีนัดสัมภาษณ์ ท่านต้องนำใบนัดสัมภาษณ์ ใบยืนยัน DS-160 ของท่าน รูปถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกินหกเดือนหนึ่งใบ หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบันและเล่มเก่าทั้งหมด และใบเสร็จการชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าตัวจริง คำร้องใดที่ไม่มีเอกสารดังกล่าทั้งหมดวจะไม่ได้รับการพิจารณา

เอกสารประกอบในการยื่นคำร้องขอวีซ่า

เอกสารเพิ่มเติมในการยื่นคำร้องขอวีซ่านั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่กงสุลจะนำมาพิจารณาในระหว่างการสัมภาษณ์ โดยเจ้าหน้าที่กงสุลจะตัดสินใบคำร้องแต่ละกรณีจากปัจจัยด้านอาชีพ สังคม วัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆที่มีอยู่ในขณะที่ทำการพิจารณา โดยอาจดูจากเจตนา สถานการณ์ด้านครอบครัว แผนระยะยาวของท่าน ตลอดจนสถานการณ์ภายในประเทศที่ท่านอาศัยอยู่ ซึ่งแต่ละกรณีจะได้รับการตรวจสอบเป็นรายบุคคลภายใต้กฎหมาย

ข้อควรระวัง: อย่าแสดงเอกสารปลอม การหลอกลวงหรือการกรอกข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจทำให้ท่านเสียสิทธิ์ในการร้องขอวีซ่าอย่างถาวร หากท่านมีความกังวลเรื่องความลับของข้อมูล ท่านควรนำเอกสารต่างๆ ใส่ซองปิดผนึกมายังสถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาด้วยตนเอง สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกาจะไม่เปิดเผยข้อมูลของท่านต่อผู้ใดและจะเคารพข้อมูลที่เป็นความลับของท่าน

ท่านควรนำเอกสารต่อไปนี้มาในวันสัมภาษณ์ด้วย

  • บัตรประจำตัวนักข่าว/สื่อมวลชน
  • หนังสือรับรองจากนายจ้างแสดงวัตถุประสงค์ของการเดินทาง ระยะเวลาที่ต้องการเดินทาง จำนวนปีที่ผู้สมัครได้ทำงานให้กับผู้ว่าจ้าง และจำนวนปีของประสบการณ์การทำงานในสาขาสื่อสารมวลชนของผู้สมัคร

เอกสารประกอบในการยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับผู้ติดตาม

หากคู่สมรสและ/หรือบุตรของผู้สมัครยื่นคำร้องขอวีซ่าต่างหากในภายหลัง ให้นำสำเนาวีซ่าสื่อมวลชนของผู้สมัครหลักมาแสดงประกอบการยื่นคำร้องขอวีซ่าในวันสัมภาษณ์ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ